กฏบัตรคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง


1. วัตถุประสงค์
คณะกรรมการบริษัทฯ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการบริหารความเสี่ยงขึ้น เพื่อกำหนดนโยบายด้านการบริหารความเสี่ยง ให้ครอบคลุมทั้งองค์กร รวมทั้งกำกับดูแลให้มีระบบหรือกระบวนการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อลดผลกระทบต่อธุรกิจของบริษัทฯ อย่างเหมาะสม โดยได้กำหนดองค์ประกอบขอบเขตอำนาจ หน้าที่และความรับผิดชอบ เพื่อให้คณะกรรมการบริหารความเสี่ยงสามารถปฏิบัติ หน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิผล ตามที่คณะกรรมการบริษัทฯ ได้มอบหมาย
2. องค์ประกอบของคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ได้รับการแต่งตั้งโดยคณะกรรมการบริษัท และประกอบด้วยกรรมการบริษัท หรือประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จำนวน 1 คน และผู้บริหารอย่างน้อย 5 คน โดยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท เป็น ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง โดยตำแหน่ง
3. วาระการดำรงตำแหน่ง
  1. กรรมการบริหารความเสี่ยง มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 2 ปี
  2. กรรมการบริหารความเสี่ยง อาจได้รับการแต่งตั้งกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งต่อไปได้อีกตามที่คณะกรรมการบริษัทเห็นว่าเหมาะสม
  3. นอกเหนือจากการพ้นจากตำแหน่งตามข้อ 3.1 กรรมการบริหารความเสี่ยง จะพ้นตำแหน่งเมื่อ
    • ลาออก
    • คณะกรรมการบริษัทมีมติให้พ้นจากตำแหน่ง
  4. คณะกรรมการบริษัท มีอำนาจในการแต่งตั้ง กรรมการบริหารความเสี่ยง เพิ่มเติม เพื่อประโยชน์ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ หรือเพื่อทดแทน กรรมการบริหารความเสี่ยงที่พ้นจากตำแหน่งตามข้อ 3.1 หรือ 3.3 ได้ โดยบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งเข้าเป็นกรรมการบริหารความเสี่ยง ทดแทนตามข้อ 3.3 จะอยู่ในตำแหน่งได้เพียงเท่าวาระที่ยังเหลืออยู่ของกรรมการบริหารความเสี่ยง ซึ่งตนแทนเท่านั้น
4. ขอบเขตอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบ
  1. พิจารณาสอบทาน และนำเสนอนโยบายและกรอบการบริหารความเสี่ยง ให้แก่คณะกรรมการบริษัท เพื่อพิจารณาอนุมัติ
  2. พิจารณาสอบทานและให้ความเห็นชอบความเสี่ยงที่ยอมรับได้ (Risk Appetite) และนำเสนอคณะกรรมการบริษัทเพื่อรับทราบ
  3. กำกับดูแลกิจการการพัฒนาและการปฏิบัติตามนโยบายและกรอบการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลุ่มบริษัทฯ มีระบบบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพทั่วทั้งองค์กรและมีการปฏิบัติตามอย่างต่อเนื่อง
  4. สอบทานรายงานการบริหารความเสี่ยง เพื่อติดตามความเสี่ยงที่มีสาระสำคัญ และ ดำเนินการเพื่อให้มั่นใจว่า องค์กรมีการจัดการความเสี่ยงอย่างเพียงพอและเหมาะสม
  5. ประสานงานกับคณะกรรมการตรวจสอบเกี่ยวกับความเสี่ยงที่สำคัญ และมีหน่วยงาน ตรวจสอบภายในเป็นผู้สอบทานเพื่อให้มั่นใจว่า บริษัทฯ มีระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสมต่อการจัดการความเสี่ยง รวมทั้งการนำระบบการบริหารความเสี่ยงมาปรับใช้ อย่างเหมาะสมและมีการปฏิบัติตามทั่วทั้งองค์กร
  6. รายงานคณะกรรมการบริษัทเกี่ยวกับความเสี่ยงและและการจัดการความเสี่ยงที่สำคัญอย่างสม่ำเสมอ
  7. ปฏิบัติการอื่นใดเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงที่คณะกรรมการบริษัทมอบหมาย ทั้งนี้ผู้บริหาร และ/หรือหน่วยงาน และ/หรือคณะทำงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารความ เสี่ยง และ/หรือผู้ตรวจสอบภายใน และ/หรือผู้สอบบัญชี จะต้องรายงานหรือนำเสนอข้อมูลและเอกสารที่เกี่ยวข้องต่อ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ให้บรรลุตามหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย
5. การรายงาน
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง รายงานต่อคณะกรรมการบริษัท
6. การประชุม
  1. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง จัดให้มีหรือเรียกประชุมตามที่เห็นสมควร อย่างน้อย ไตรมาสละ 1 ครั้ง และมีอำนาจในการเรียกประชุมเพิ่มได้ตามความจำเป็น โดยองค์ประชุมประกอบด้วย กรรมการบริหารความเสี่ยง ไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนกรรมการทั้งหมด
  2. กรรมการทุกท่านควรเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง ยกเว้นมีเหตุจำเป็นไม่อาจเข้าร่วมประชุมได้ควรแจ้งให้ ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง ทราบล่วงหน้า
  3. ให้ประธานกรรมการบริหารความเสี่ยง เป็นประธานที่ประชุม ในกรณีที่ ประธาน กรรมการบริหารความเสี่ยง ไม่อยู่ในที่ประชุมหรือไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้ กรรมการบริหารความเสี่ยง ที่มาประชุมเลือก กรรมการบริหารความเสี่ยง คนหนึ่งเป็น ประธานที่ประชุม
  4. การลงมติของ กรรมการบริหารความเสี่ยง กระทำได้โดยถือเสียงข้างมาก ทั้งนี้ กรรมการบริหารความเสี่ยง ผู้ที่มีส่วนได้เสียใดๆ ในเรื่องที่พิจารณา จะต้องไม่เข้าร่วมใน การแสดงความเห็น และไม่มีสิทธิออกเสียงลงมติในเรื่องนั้น
  5. การจัดส่งหนังสือเชิญประชุมให้แก่ กรรมการบริหารความเสี่ยง ให้จัดส่งล่วงหน้าก่อนการประชุม เพื่อให้ คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง มีเวลาในการพิจารณาเรื่องต่างๆ หรือเรียกข้อมูลประกอบการพิจารณาเพิ่มเติม ทั้งนี้หนังสือเชิญประชุมจะต้องมีรายละเอียดวาระการประชุม และเอกสารประกอบการประชุม โดยวาระการประชุมจะครอบคลุมเรื่องต่างๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะกรรมการบริษัท เว้นแต่ในกรณีจำเป็นหรือเร่งด่วน จะแจ้งการนัดประชุมโดยวิธีอื่น หรือกำหนดวันประชุมให้เร็วกว่านั้นได้ โดยให้ เลขานุการคณะกรรมการบริหารความเสี่ยง เป็นผู้บันทึกรายงานการประชุม
  6. คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง สามารถเชิญผู้ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุมเพื่อชี้แจง ข้อเท็จจริงต่างๆ ให้แก่ที่ประชุม คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง ทราบได้

กฎบัตรนี้ได้เสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทฯ ในการประชุมครั้งที่ 2/2559 เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2559
ไทย