นโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น

บริษัท เอเชียน อินซูเลเตอร์ จำกัด (มหาชน) “บริษัทฯ” ตระหนักถึงความสำคัญของการดำเนินกิจการอย่างโปร่งใส ยึดหลักการกำกับดูแลกิจการที่ดีเพื่อให้มีการดำเนินกิจการอย่างมีประสิทธิภาพเป็นธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคมและผู้มีส่วนได้เสีย และป้องกันการทุจริตคอรัปชั่นที่อาจเกิดขึ้นในองค์กรทุก ๆ กรณี บริษัทฯ จึงกำหนดหลักการดำเนินกิจการที่ไม่สนับสนุนกิจการของกลุ่มหรือบุคคลที่กระทำการโดยมิชอบในการแสวงหาผลประโยชน์เพื่อให้บริษัทฯได้รับความไว้วางใจในการดำเนินกิจการอันปราศจากการทุจริต บริษัทจึงได้จัดทำนโยบายต่อการคอร์รัปชั่นขึ้น และเพื่อเป็นแนวทางสำหรับคณะกรรมการ ผู้บริหารและพนักงานปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
โดยมีรายละเอียดนโยบาย ดังนี้
1. คำนิยาม
“การคอร์รัปชั่น” หมายถึงการใช้อำนาจที่ได้มาโดยหน้าที่ในการหาประโยชน์ส่วนตัว การให้สินบนไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม โดยการเสนอให้ การสัญญา การให้คำมั่น การเรียกร้องหรือการรับซึ่งเงิน หรือทรัพย์สินและผลประโยชน์ อื่น ๆ ที่ไม่เหมาะสม ทั้งจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ หน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานเอกชน รวมถึงการเอื้อประโยชน์ในการธุรกิจให้กับตนเองหรือพวกพ้อง ในการปฎิบัติหน้าที่อันนำมาซึ่งผลประโยชน์ในทางมิชอบเว้นแต่เป็นการกระทำในกรณีทีกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ ประกาศ ข้อบังคับ ขนบธรรมเนียม ประเพณีท้องถิ่น หรือจารีตทางการค้าให้กระทำได้ และการกระทำ อื่น ๆ ที่มีลักษณะคล้ายกัน
“สินบน” หมายถึง การกระทำในรูปแบบใด ๆ ที่เป็น การเสนอ การให้สัญญา การมอบให้ การยอมรับการเรียกร้องที่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ ในลักษณะที่เป็นการจูงใจให้มีการปฏิบัติใด ๆ ที่ขัดต่อกฎหมายหรือขัดต่อหน้าที่ความรับผิดชอบ [1]
ผลประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ ให้รวมถึงของขวัญ บริการ เงินสด หรือรูปแบบอื่น ๆ ที่อาจให้โดยตรง หรือผ่านบุคคลอื่นหรือเพื่อบุคคลอื่นด้วย
การจูงใจให้มีการปฏิบัติใด ๆ ให้รวมถึงการกระทำต่อเจ้าหน้าที่รัฐ หรือเจ้าหน้าที่ภาคเอกชนด้วย
2. รูปแบบการคอร์รัปชั่น และสินบน และนโยบายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง
การช่วยเหลือทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการช่วยเหลือด้านการเงิน หรือรูปแบบอื่นๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง พรรคการเมือง นักการเมือง หรือผู้มีบทบาท ทางการเมือง โดยหวังให้กลุ่มบุคคลดังกล่าวใช้อํานาจที่มีเพื่อเอื้อประโยชน์ สิทธิพิเศษ หรือความได้เปรียบ ทางธุรกิจอันมิควรได้แก่กิจการ
การบริจาคเพื่อการกุศล กิจการอาจให้สินบนกับบุคคลหนึ่งบุคคลใดเพื่อหวัง ประโยชน์บางประการในรูปของ “เงินบริจาค” โดยอ้างว่าเป็นกิจกรรมด้านความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เช่น การช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส ผู้ประสบภัย ตลอดจนองค์กรสาธารณะต่าง ๆ โดยมิหวังผลตอบแทน แต่แท้จริงแล้ว เงินบางส่วน (หรือทั้งหมด) กลับมิได้ถูกใช้เพื่อดําเนินกิจกรรมตามวัตถุประสงค์ที่กล่าวอ้าง หากแต่ถูกผ่องถ่ายไปยังบุคคลที่มีอํานาจบริหารจัดการ (เช่น เจ้าหน้าที่รัฐที่เกี่ยวข้องกับการกุศลนั้น) ซึ่ง แสวงหาผลประโยชน์ส่วนตนจากกิจกรรมดังกล่าวแทน
การให้เงินสนับสนุน เป็นกิจกรรมที่จัดเพื่อประชาสัมพันธ์ธุรกิจ สร้างความน่าเชื่อถือตลอดจนส่งเสริมภาพลักษณ์ขององค์กรผ่านกิจกรรมทางการตลาดต่าง ๆ เช่น การสนับสนุนงาน กีฬา ฯลฯ อย่างไรก็ตาม กิจกรรมดังกล่าวอาจมีวัตถุประสงค์แอบแฝงเพื่อใช้เป็นช่องทางเพื่อหลบเลี่ยงการจ่ายสินบน ทางตรง เพื่อโน้มน้าวให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนั้น ๆ กระทําการอันไม่เหมาะสมเพื่อเอื้อประโยชน์แก่กิจการ
การเลี้ยงรับรอง เช่น การเลี้ยงอาหาร การสังสรรค์ รวมถึงการจัดงานรื่นเริง หรือกิจกรรมสันทนาการเพื่อการพักผ่อนหย่อนใจต่าง ๆ โดยกิจกรรมเหล่านี้อาจถูกใช้เป็นช่องทาง เพื่อสร้างความสนิทสนม หรือโน้มน้าวใจให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดกระทําการเพื่อเอื้อประโยชน์อันมิชอบต่าง ๆ แก่กิจการ
การให้สินบนเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานรัฐหรือเอกชนในลักษณะต่าง ๆ เช่น การให้เงินสด ของขวัญ ของกํานัล หรือสินค้าราคาแพง การเลี้ยงรับรอง การจัดงานสังสรรค์รื่นเริง การท่องเที่ยวและสันทนาการ เป็นต้น
การให้สินบน ดังกล่าวสามารถถูกซ่อนเร้นอําพรางผ่าน “ช่องทาง” ต่าง ๆ ได้ อาทิเช่น การช่วยเหลือทาง การเมือง การบริจาค การสนับสนุน การว่าจ้างที่ปรึกษา เป็นต้น สินบน อาจถูกเรียกชื่อแตกต่างกันออกไปในแต่ละแวดวงอุตสาหกรรม เช่น ส่วย สินน้ำใจ เงินใต้โต๊ะ ค่าอํานวยความสะดวก
3. บทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบ
คณะกรรมการบริษัท มีหน้าที่ในการกำหนดนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น และพิจารณาอนุมัตินโยบาย รวมถึงกำกับดูแล และสนับสนุนการต่อต้านการคอร์รัปชั่น โดยการผลักดันนโยบายให้สามารถปฏิบัติได้จริงในบริษัทฯ พร้อมทั้งเป็นต้นแบบที่ดีในด้านการทำงานที่ซื่อสัตย์สุจริต เพื่อให้พนักงานทุกคนในบริษัทฯ เข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญต่อการต่อต้านการคอร์รัปชั่นและยึดถือปฏิบัติตาม
คณะกรรมการตรวจสอบ พิจารณาทบทวนนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นที่ได้รับอนุมัติในด้านความเหมาะสมต่อองค์กรรับผิดชอบในการสอบทานงบการเงิน ตรวจสอบระบบการควบคุมภายในและการประเมินความเสี่ยงองค์กร เพื่อให้มั่นใจว่าบริษัทฯ มีการดำเนินกิจการที่โปร่งใสและไม่ขัดแย้งต่อนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นของบริษัทฯเป็นผู้รับผิดชอบในการพิจารณาและเสนอวาระเมื่อพบว่ามีการทุจริตในองค์กรต่อคณะกรรมการบริษัท เพื่อร่วมกันกำหนดบทลงโทษและหาแนวทางการป้องกันต่อไป
คณะกรรมการบริหารความเสี่ยง กําหนดนโยบายการบริหารความเสี่ยง และกลยุทธ์การบริหารความเสี่ยงที่มีผลต่อ นโยบายและแนวปฏิบัติต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน โดยกํากับดูแลให้มีการประเมินความเสี่ยงด้านการทุจริตและคอร์รัปชั่นและทบทวนมาตรการต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชันให้เพียงพอเหมาะสม
ผู้ตรวจสอบภายใน มีหน้าที่สอบทานการปฏิบัติงานของบริษัทฯ ให้ไปตามนโยบายที่กำหนดไว้ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในระบบการควบคุมภายในและลดความเสี่ยงการเกิดคอร์รัปชั่นในองค์กร ทั้งนี้ผู้ตรวจสอบภายในจะต้องมีการจัดทำรายงานต่อคณะกรรมการ กรรมการ ผู้บริหารระดับสูง ฝ่ายจัดการ และพนักงานของบริษัท มีหน้าที่ต้องปฏิบัติตตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น โดยจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นในทุกๆ กรณี ไม่ว่าจะในทางตรงหรือทางอ้อม
4. แนวทางปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และพนักงานทุกระดับจะต้องปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นของ บริษัทฯ อย่างเคร่งครัดโดยจะต้องไม่เกี่ยวข้องกับการคอร์รัปชั่นในทุกๆ กรณี ไม่ว่าจะในทางตรงหรือทางอ้อม ทั้งนี้นโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นดังกล่าวจะรวมถึงการปฏิบัติงานของผู้รับจ้างหรือคู่ค้าที่เข้ามาติดต่อกับบริษัทฯ ด้วย บริษัทฯมีแนวทางปฏิบัติตามนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น ตามลักษณะการทุจริตดังต่อไปนี้
4.1 การให้สินบนด้วยเงินหรือการให้ผลประโยชน์ด้วยของกำนัลอื่นๆ บริษัทฯ ห้ามไม่ให้มีการให้สินบนด้วยเงินหรือการให้ผลประโยชน์ด้วยของกำนัลอื่นๆ เพื่อหวังผลประโยชน์ส่วนตัว ไม่ว่าจะมีรูปแบบอย่างไรก็ตามกับบุคคลหรือกลุ่มคนที่มีการติดต่องานร่วมกันทั้งในบริษัทฯ และองค์กรนอกบริษัท เช่น หน่วยงานราชการและหน่วยงานเอกชน
4.2 การรับสินบน
4.2.1 ห้ามไม่ให้พนักงานทุกระดับรับเงิน สิ่งของ ของขวัญหรือของกำนัลอื่นๆ ที่จะเป็นการเข้าข่ายต่อการทุจริตคอร์รัปชั่น เพื่อเป็นการป้องกันการปฏิบัติงานที่ขาดประสิทธิภาพและส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ
4.2.2 สำหรับงานจัดซื้อ/จัดจ้างต่างๆ จะต้องดำเนินการตามขั้นตอนการทำงานของบริษัทฯ ตั้งแต่การเสนอรูปแบบ การเสนอราคา การเปรียบเทียบราคา การเลือกคู่ค้าและ/หรือผู้รับเหมา โดยห้ามมิให้พนักงานในบริษัทฯรับข้อเสนอต่างๆหรือมีผลประโยชน์แอบแฝงกับคู่ค้าและ / หรือผู้รับเหมา ทั้งนี้ บริษัทฯมีวิธีการตรวจสอบอย่างรอบคอบผ่านผู้จัดการฝ่ายที่เกี่ยวข้องและจะต้องมีการอนุมัติการจัดซื้อ/จัดจ้างโดยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร
4.3 การบริจาคเพื่อการกุศล การสาธารณประโยชน์และเงินสนับสนุนบริษัทฯ มีข้อกำหนดในการบริจาคเพื่อการกุศล การสาธารณประโยชน์และเงินสนับสนุนดังนี้
4.3.1 ในการอนุมัติการบริจาคต่างๆ จะต้องเป็นไปตามอำนาจอนุมัติขององค์กร ทั้งนี้หากเงินบริจาค ไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตามที่มีมูลค่ามากกว่า 10,000 บาท จะต้องได้รับการอนุมัติจากกรรมการบริษัทฯ
4.3.2 ในการบริจาคจะต้องเป็นการบริจาคในนาม “บริษัทฯ”เท่านั้น ทั้งนี้จะต้องมีหลักฐานการบริจาคที่ชัดเจนและเชื่อถือได้ และจะต้องปฏิบัติตามระเบียบขั้นตอนของบริษัทฯ ทั้งนี้ บริษัทจะไม่ใช้การบริจาคเป็นข้ออ้างหรือนำมาไปใช้ในวัตถุประสงค์อื่นใด
4.4 การให้หรือรับของขวัญ ของที่ระลึก หรือการเลี้ยงรับรองในการให้หรือรับของขวัญของที่ระลึกหรือ เลี้ยงรับรองจะมีวัตถุประสงค์เพียงเพื่อการต้อนรับหรือการแสดงความยินดีเท่านั้น โดยไม่มีนัยยะอื่น
5. บทลงโทษ
การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามนโยบายนี้ ไม่ว่าจะโดยกรรมการหรือพนักงานคนใด จะมีการตรวจสอบตามกระบวนการทางวินัยของบริษัท และอาจมีการตักเตือน ลงโทษหรือเลิกจ้าง นอกจากนั้นยังอาจมีการดำเนินคดีทั้งทางแพ่งและอาญาหากพบว่าเป็นการฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติโดยเจตนา
6. ช่องทางการรับเรื่องร้องเรียน
ผู้ประสงค์จะร้องเรียนหรือแจ้งเบาะแส สามารถแจ้งโดยบริษัทจัดให้มีช่องทางการแจ้งเบาะแสข้อร้องเรียนและการคุ้มครองผู้รายงาน โดยให้เป็นไปตามระเบียบบริษัทฯ ว่าด้วยการร้องเรียนและแจ้งเบาะแสการทุจริต ทั้งนี้ทุกเบาะแสและข้อร้องเรียนจะถูกตรวจสอบและหาข้อเท็จจริงในขั้นต้น หากมีข้อมูลและหลักฐานประกอบจะมีการดําเนินการตามขั้นตอนเป็นลําดับต่อไป ซึ่งบริษัทฯ มีการกําหนดกระบวนการสอบสวนไว้เป็นลายลักษณ์อักษร สามารถแจ้งข้อร้องเรียนผ่านช่องทางของบริษัทฯ ได้ 3 ช่องทาง คือ
6.1 เว็บไซต์บริษัทฯ http://www.asianinsulators.com
Email บริษัทฯ asian@asianinsulators.com
6.2 ทางไปรษณีย์ หรือ ยื่นส่งโดยตรงได้ที่
ประธานกรรมการตรวจสอบ
บริษัท เอเชียน อินซูเลเตอร์ จํากัด (มหาชน)
254 ถนนเสรีไทย แขวงคันนายาว เขตคันนายาว กรุงเทพฯ 10230
6.3 สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายและแนวปฏิบัติต่อต้านการทุจริตและคอร์รัปชัน สามารถติดต่อ ที่อีเมล ir@asianinsulators.com
7. มาตรการคุ้มครองผู้แจ้งเบาะแส หรือข้อร้องเรียน
ผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริง ผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน และผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงจะได้รับความคุ้มครองตามหลักเกณฑ์ ดังนี้
7.1 บริษัทฯ จะไม่เปิดเผยชื่อตัว ชื่อสกุล ที่อยู่ ภาพ หรือข้อมูลอื่นใดที่สามารถระบุตัวผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน และผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงได้ แล้วดําเนินการสืบสวนว่ามีมูลความจริง เพียงใดหรือไม่
7.2 ผู้รับข้อร้องเรียนต้องเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องเป็นความลับ และจะเปิดเผยเท่าที่จําเป็น โดยคํานึงถึงความปลอดภัย และความเสียหายของผู้แจ้งเบาะแสหรือข้อร้องเรียน และผู้ที่ให้ความร่วมมือในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและ แหล่งที่มาของข้อมูลหรือบุคคลที่เกี่ยวข้อง
8. การเผยแพร่นโยบายต่อต้านการทุจริตและการคอร์รัปชั่นเพื่อให้พนักงานในองค์กรทราบและตระหนักในนโยบายต่อต้านคอร์รัปชั่น บริษัทฯ จะดำเนินการดังต่อไปนี้
8.1 บริษัทฯจะประกาศให้พนักงานทุกคนได้รับทราบ โดยจะมีการเผยแพร่ผ่านทางEmail ของบริษัทฯ เพื่อให้ทุกฝ่าย/แผนกได้รับทราบโดยทั่วกัน
8.2 บริษัทฯ จะมีการอบรมนโยบายการต่อต้านคอร์รัปชั่นกับพนักงานใหม่ทุกคนและเพื่อให้บุคคลภายนอกหรือผู้ที่สนใจทราบถึงการปฏิบัติงาน บริษัทฯ จะนำนโยบายการต่อต้านการคอร์รัปชั่นเผยแพร่ให้ได้รับทราบ ผ่านช่องทางดังต่อไปนี้
8.2.1 เว็บไซต์บริษัทฯ http://www.asianinsulators.com
8.2.2 รายงานการเปิดเผยข้อมูลประจำปี แบบ 56 -1 (One Report)
บริษัทฯ เห็นความสำคัญของการจัดทำนโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่น ซึ่งจะส่งผลให้การดำเนินกิจการมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ทั้งยังสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้า ลูกค้า และผู้ถือหุ้นในแง่ของการเป็นบริษัทที่มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี ทั้งนี้ บริษัทฯ เชื่อมั่นว่านโยบายต่อต้านการคอร์รัปชั่นจะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยพัฒนาศักยภาพของบริษัทฯให้เจริญเติบโต ก้าวหน้า และมีความมั่นคง
ประกาศ ณ วันที่ 12 พฤษภาคม 2565
ไทย